ไร่ นา สวนผสม อีกทางเลือกของเกษตรกร

ไร่ นา สวนผสม เป็นรูปแบบการจัดการผลิตทางการเกษตร ที่แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน ทำกิจกรรมหลายอย่าง เช่น นาข้าว พืชไร่ พืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น และเพาะเลี่ยงสัตว์ เพื่อให้เกิดความหลากหลายและความต่อเนื่องของผลผลิต เป็นแนวทางการสร้างรายได้และลดความเสี่ยง ในการทำเกษตร ซึ่งพบได้ในพื้นที่

ไร่ นา สวนผสม บนพื้นที่ 5 ไร่ ของ คุณมนตรี เชียงเครือ เกษตรกรในพื้นที่ตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ เต็มไปด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย – นับเป็นเวลากว่า 3 ปี ที่ได้ปรับเปลี่ยนนาข้าว เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมหลากหลาย เริ่มต้นจากการขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำ ใช้เนื้อที่ประมาณ 1 งาน นำดินที่ได้ปรับที่นาเป็นพื้นที่ทำสวน (เหลือพื้นที่นาประมาณ 1 ไร่ สำหรับไว้ปลูกข้าวกิน) ลงมือปลูกไม้ยืนต้น ได้แก่ ต้นแค ขนุน กล้วย ไผ่ และแบ่งพื้นที่ปลูกพืชผักหมุนเวียนที่มีช่วงอายุเก็บเกี่ยวหลากหลาย เช่น ตะไคร้ ข่า กระเพรา โหระพา พริก บวบ ถั่วฝักยาว มะเขือ และผักใบ เก็บผลผลิตส่งให้แม่ค้าและนำไปจำหน่ายเองในชุมชนและตลาดทั่วไป พึ่งพาแรงงานในครอบครัวเป็นหลัก

ปัญหาเบื้องต้น คือ การจัดการแหล่งน้ำและระบบน้ำ โดยเริ่มแรกยังใช้สูบเครื่องยนต์น้ำมันเชื้อเพลิง ต่อสายยางปล่อยท่วมหรือลากสายยางรด ปัจจุบันได้พัฒนาวางท่อ PVC และหัวจ่าย สปริงเกอร์ ช่วยประหยัดแรงและเวลา – ส่วนแหล่งน้ำ ได้ขุดสระน้ำและทำร่องเก็บน้ำและระบายน้ำเพิ่มเติมทั่วพื้นที่ คาดว่าจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ

เทคนิค “การห่มดินด้วยฟางข้าว” เป็นกระบวนการสำคัญ ในการเพาะปลูก ของคุณมนตรี – ในพื้นที่จะเตรียมดินโดยการใช้ฟางข้าวคลุมอย่างหนาแน่น โดยให้ประโยชน์ได้แก่

1.รักษาความชื้น – ป้องกันการระเหยของน้ำในดิน เนื่องจากไม่ได้รับแสงแดดโดยตรง

2.ควบคุมวัชพืช – ลดพื้นที่การเติบโตของวัชพืช โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี

3.ทำให้ดินร่วมซุย – รักษาอุณหภูมและความชื้น ช่วยส่งเสริมให้จุลินทรีย์ในดินทำงานอย่างเต็มที่ เศษฟางย่อยสลายเป็นอิทรีย์วัตถุ

“บวบ” เป็นพืชที่ให้ผลผลิตและสร้างรายได้อย่างดีในปัจจุบัน เทคนิคการปลูกของ คุณมนตรี คือ การปล่อยให้บวบเลื้อยไปตามพื้น ซึ่งกิ่งที่เลื้อยจะสร้างรากยึดเกาะพื้นดินและติดดอกออกผล จำนวนมาก

จากการเปลี่ยนพื้นที่พืชเชิงเดี่ยว อย่างนาข้าว ซึ่งอาจประสบปัญหาด้านราคา ผลผลิตและฤดูกาลที่จำกัด เป็น ไร่ นา สวนผสม ซึ่งให้ผลผลิตที่หลากหลาย สามารตอบโจทย์ด้านความมั่นคงทางรายได้และกิจกรรมที่ครอบครัวทำได้ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ – แต่เกษตรกรต้องให้ความสนใจ และทุ่มเทที่จะทำงานและใช้ทักษะในการบริหารจัดการมากขึ้น ไร่ นา สวนผสม จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ


ผู้ดำเนินการ : นายพรเพชร เผ่าแก้ว นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ

เรื่อง : ชัชวาลย์ กลไกล

ภาพ : สุจิตรา มณีขัติ มณีรัตน์ วงศ์วิลาส


การจัดการน้ำ http://dokkhamtai.phayao.doae.go.th/?p=401

ท่องเที่ยวเชิงเกษตร http://dokkhamtai.phayao.doae.go.th/?p=494

ไร่ นา สวนผสม https://www.arda.or.th/knowledge_detail.php?id=45

Spread the love