มาตรฐานสินค้าเกษตร


การส่งเสริม สนับสนุนการทำเกษตรตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เป็นภารกิจสำคัญที่สำนักงานเกษตรได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบอาหารซึ่งมีความจำเป็นต้องมีกระบวนการผลิตให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภคและเกษตรกร โดยหลักการส่งเสริมได้อ้างอิงมาตรฐานการผลิตที่ทางภาครัฐได้กำหนด ซึ่งสำนักงานเกษตรเป็นหน่วยงานประสานระหว่างเกษตรกรและหน่วยงานผู้ตรวจรับรอง ตลอดจนส่งเสริมและให้คำปรึกษา เพื่อให้การผลิตเป็นไปตามกระบวนการและได้รับการรับรอง ปัจจุบันมีมาตรฐานการผลิตด้านการเกษตรที่สามารถขอรับรองได้จากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่


1. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP)

มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ครอบคลุมสำหรับการผลิตพืชสำหรับใช้เป็นอาหาร ได้แก่ พืชผัก ไม้ผล พืชไร่ พืชเครื่องเทศ และพืชสมุนไพร โดยมีรายการตรวจประเมิน จำนวน 8 รายการ ดังนี้

1) น้ำ : น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตต้องมาจากแหล่งผลิตที่ไม่มีสภาพแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนต่อผลผลิต

2) พื้นที่ปลูก : ไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนวัตถุหรือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผลผลิต

3) วัตถุอันตรายทางการเกษตร : จัดเก็บเป็นหมวดหมู่ในสถานที่เก็บที่มิดชิดและใช้ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร

4) การจัดการคุณภาพในกระบวนการเก็บเกี่ยว : มีแผนควบคุมการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพโยใช้หลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี

5) การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว : เก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีอายุเหมาะสม ผลผลิตมีคุณภาพตามความต้องการของตลาดและข้อตกลงของประเทศคู่ค้า

6) การพักผลผลิต : การขนย้ายในแปลงปลูกและการเก็บรักษาผลผลิต มีการจัดการด้านสุขลักษณะเพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่มีผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

7) สุขลักษณะส่วนบุคคล : ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ความเข้าใจในสุขลักษณะส่วนบุคคล เพื่อสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกสุขลักษณะ

8) การบันทึกข้อมูลและการตามสอบ : มีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติงานการใช้สารเคมี ข้อมูลผู้รับซื้อและปริมาณผลผลิต เพื่อประโยชน์ต่อการตามสอบ


แบบคำร้องสำหรับขอรับรอง GAP พืชทั่วไป (หน่วยงานรับรอง : กรมวิชาการเกษตร)


2. เกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture)

มาตรฐานนี้มีการรับรองในการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร ครอบคลุมการผลิตจำนวน 6 ประเภท ได้แก่ การขอรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์, การรับรองโรงคัดบรรจุพืชอินทรีย์, การรับรองการแปรรูปผลิตภัณฑ์พืชอินทรีย์, การรับรองการรวบรวมผลิตผล/ผลิตภัณฑ์พืชอินทรีย์, การรับรองการจัดจำหน่ายผลิตผล/ผลิตภัณฑ์พืชอินทรีย์ และการรับรองการนำเข้าผลิตผล/ผลิตภัณฑ์พืชอินทรีย์

โดยจะกล่าวถึงการขอรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ที่เกษตรกรควรทราบในเบื้องต้น ซึ่งมีข้อกำหนดการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ ดังนี้

1) พื้นที่ปลูก : พื้นที่ปลูกและแหล่งน้ำที่ใช้ ต้องไม่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเคมีและโลหะหนัก โดยจะต้องหยุดใช้สารเคมีอย่างน้อย 12 เดือน สำหรับพืชอายุสั้นและพืชล้มลุก / อย่างน้อย 18 เดือน สำหรับพืชยืนต้น

2) การวางแผนการจัดการ : จัดทำแนวกันชน หรือร่องระบายน้ำเพื่อลดการปนเปื้อนสารเคมีและโลหะหนัก ปลูกพืชที่เหมาะสมกับสถาพพื้นที่และฤดูกาล

3) เมล็ดพันธุ์และส่วนที่ขยายพันธุ์ : ต้องมาจากกระบวนการผลิตพืชอินทรีย์ และไม่ใช้พันธุ์พืชที่ได้จากการดัดแปลงพันธุกรรมหรือผ่านการฉายรังสี

4) การจัดการและการปรับปรุงบำรุงดิน : ปลูกพืชหมุนเวียนหรือใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือใช้วัสดุปรับปรุงบำรุงดินที่มาตรฐานกำหนด หรือได้รับการยอมรับจากหน่วยรับรอง

5) การจัดการศัตรูพืช : ควบคุมศัตรูพืชก่อนปลูกและในระยะที่พืชเจริญเติบโตด้วยวิธีเขตกรรม วิธีกล ชีววิธี และพืชสมุนไพรแบบผสมผสาน หรือใช้สารที่มาตรฐานกำหนด หรือได้รับการยอมรับจากหน่วยรับรอง

6) การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : ใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ และภาชะที่ไม่มีการปนเปื้อนสารพิษ วัตถุอันตราย และพาหะนำโรค ผู้ปฏิบัติต้องมีความเข้าใจในการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างถูกต้องตามหลักเกษตรอินทรีย์

7) การบรรจุหีบห่อ การเก็บรักษา และการขนส่ง : การบรรจุ หีบห่อ การคัดบรรจุ การเก็บรักษา และการขนส่ง ต้องไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนท่าชสำให้สูญเสียความเป็นอินทรีย์ รวมถึงมีการชี้บ่งอย่างชัดเจน

8) การแสดงฉลากและการกล่าวอ้าง : มีรายละเอียดตามที่มาตรฐานกำหนด ชัดเจน (ตรารับรองต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 1.5 เซนติเมตร) ไม่เป็นเท็จและหลอกลวง

9) การบันทึกข้อมูลการผลิตและการทวนสอบ : จัดทำแผนการผลิต จดบันทึกขั้นตอนการปฏิบัติงาน และข้อมูลการผลิตภายในฟาร์มอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจุบัน และสามารถทวนสอบได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต


แบบคำร้องสำหรับขอรับรองอินทรีย์ พืชทั่วไป (หน่วยงานรับรอง : กรมวิชาการเกษตร)