ข้าวดอกคำใต้ พะเยา

ข้าว เป็น ผลิตผลทางการเกษตร ที่มีคุณค่าทั้งในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม สำหรับอำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา มีพื้นที่ผลิตข้าวกระจายทั่วไปในพื้นที่ โดยผู้คนสามารถเข้าถึงแหล่งผลิต ที่มีสภาพเป็นที่ราบกว้างใหญ่ ซึ่งหายากในสภาพภูมิประเทศแถบภาคเหนือตอนบน ด้วยพิกัดที่ตั้งบนที่ราบลุ่มแม่น้ำอิงและแหล่งน้ำสาขา เอื้ออำนวยให้มีการปลูกข้าว (ในช่วงฤดูนาปี) เป็นวิถีอาชีพที่ดำเนินมาอย่างช้านาน ปัจจุบัน “ข้าวดอกคำใต้ พะเยา” โดยเฉพาะ ข้าวหอมมะลิ นั้น เป็นที่ต้องการของตลาด ดังที่เห็นได้จากมีผู้ประกอบการหลายแห่งเข้ามารับซื้ออย่างต่อเนื่อง ทุกฤดู

การผลิตข้าวที่ผ่านมา เป็นการผลิตข้าวสายพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อให้ตรงตามความต้องการบริโภคและการนำเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกหรือเพิ่มประสิทธิภาพ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตรายย่อย มักประสบปัญหาด้านการลงทุน(ต้นทุนการผลิต) ความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนราคาผลผลิต จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ด้วยข้อจำกัดและอุปสรรคต่าง ๆ เช่น งบประมาณ บุคลากรและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรและสภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน – ข้าวดอกคำใต้ พะเยา

การแก้ไขปัญหาและพัฒนาในห้วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์กรเกษตรกร ได้ดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1.การบริหารจัดการองค์กรเกษตรกร – ส่งเสริมการรวมกลุ่มและจัดทำโครงสร้างการบริหารภายใน พัฒนาในรูปแบบกลุ่มแปลงใหญ่และวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนยกระดับเป็นองค์กรนิติบุคคล เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรรายย่อย แบบแผนการทำงานและระบบการสื่อสาร

2.พัฒนาองค์ความรู้ – ถ่ายทอดความรู้โดยใช้วิธีการหลากหลาย ทั้ง การฝึกอบรม เวทีแลกเปลี่ยน จัดกิจกรรมในพื้นที่ การสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ โดยบูรณาการหน่วยงานด้านต่าง ๆ เข้าร่วม เพื่อให้เกษตรกรปรับใช้ในการบริหารองค์กร การผลิต แปรรูปเพิ่มมูลค่าและช่องทางตลาด

3.เชื่อมโยงเครือข่าย – ระหว่างกลุ่มเกษตรกร หน่วยงาน ผู้ประกอบการ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล บริการและช่องทางการตลาด

4.การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ – ส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตร และการลงทุนในเครื่องมือและอุปกรณ์ในกระบวนการผลิต ตลอดจนการอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแก่สมาชิก

สำหรับในอนาคต สิ่งที่คาดหวัง คือ ความมั่นคงด้านอาชีพ โดยเกษตรกรมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้โจทย์ที่สำคัญ คือ การสื่อสารสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่มีต่อ – ข้าวดอกคำใต้ พะเยา


ผู้ดำเนินการ : นายพรเพชร เผ่าแก้ว นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ / นางสาวสกุลนุช แก้วเทพ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ

เรื่อง : ชัชวาลย์ กลไกล

ภาพ : สำนักงานเกษตรอำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา


ข้าวหอมมะลิพะเยา https://www.thairicedb.com/rice-detail.php?id=48 https://ipthailand.go.th/th/gi-011/item/gi63100146.html

เกษตรแปลงใหญ่ https://co-farm.doae.go.th/news.php https://www.moac.go.th/news-preview-412891791039

วิสาหกิจชุมชน https://smce.doae.go.th/ https://www.egov.go.th/th/e-government-service/180/

ท่องเที่ยวเชิงเกษตร http://dokkhamtai.phayao.doae.go.th/?p=494

Spread the love