ทะเบียนวิสาหกิจชุมชน

วิสาหกิจที่จดทะเบียนตาม พรบ.วิสาหกิจชุมชน กับภาครัฐ มีหน้าที่ต้องดำเนินการต่ออายุในช่วง เดือนมกราคม ของทุกปี ดังนั้นกลุ่มจึงต้องทบทวนข้อมูลและจัดเตรียมความพร้อมในการยื่นต่อทะเบียนตามห้วงเวลาที่กำหนด ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการติดต่อ 2 ปี อาจถูกเพิกถอนทะเบียน

สำนักงานเกษตรอำเภอดอกคำใต้ ได้จัดเวทีพบปะผู้แทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้คำแนะนำด้านการบริหารจัดการ โดยมีประเด็นสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ ทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ได้แก่

1.การต่อทะเบียนวิสาหกิจชุมชน

การดำเนินการต่ออายุ ทะเบียนวิสาหกิจชุมชน เป็นขั้นตอนที่ต้องดำเนินการทุกปี โดยในช่วงเดือนมกราคม ของทุกปี สำนักงานเกษตรอำเภอจะเปิดให้ยื่นต่อทะเบียน โดยสามารถขอรับแบบฟอร์มได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอ ณ อำเภอที่ตั้ง ซึ่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน (ท.ว.ช.2)

2.เอกสารสำคัญแสดงการดำเนินกิจการ (ท.ว.ช.3)

3.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นแบบ

4.หนังสือมอบอำนาจ (สมาชิกเกินครึ่งมอบอำนาจ)

5.บันทึกแจ้งความ (กรณี ท.ว.ช.2 / 3 สูญหาย)

6.สำเนาข้อบังคับ / ข้อตกลงร่วมกันของสมาชิกกลุ่ม

7.แผนประกอบการวิสาหกิจชุมชน

8.แบบแสดงผลการดำเนินงานวิสาหกิจชุมชน

9.แบบจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานของวิสาหกิจชุมชน

10.แบบจัดเก็บเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร / เลขทะเบียนนิติบุคคล หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (สวช.8)

11.แบบประเมินศักยภาพวิสาหกิจชุมชน

12.ภาพสินค้า หรือกิจกรรม ที่ดำเนินการ

กรณีวิสาหกิจชุมชนที่ไม่ยื่นต่อทะเบียนติดต่อ 2 ปี นายทะเบียนจะดำเนินการแจ้งเตือน หลังจากนั้นหากไม่ดำเนินการใด ๆ จะพิจารณาเพิกถอนทะเบียน ตามหลักเกณฑ์

2.การประเมินกลุ่มเพื่อจัดชั้น

การประเมินกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นการตรวจสอบความพร้อมตามแบบฟอร์ม ที่มีข้อกำหนดซึ่ง เป็นตัวชี้วัดการดำเนินงานของกลุ่ม ว่ามีความสมบูรณ์ หรือ ยังขาดองค์ประกอบที่สำคัญอะไรบ้าง โดยในเบื้องต้นกลุ่มที่เป็นเป้าหมายต้องรับทราบรายละเอียดและวิธีการ ทั้งนี้ผลของการประเมินสามารถนำมาในการต่ออายุ ทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนใช้ในการแก้ปัญหาและต่อยอดพัฒนากลุ่ม โดยมีส่วนประกอบ ได้แก่

หมวดที่ 1 ผู้นำและการบริหารวิสาหกิจชุมชน – ประเมินจาก ผู้นำ โครงสร้างและกฏระเบียบ การเงินและบัญชี สวัสดิการสมาชิกและชุมชน

หมวดที่ 2 การวางแผนการดำเนินงานวิสาหกิจชุมชน – ประเมินจาก การจัดทำแผนการดำเนินงานของวิสากิจชุมชน การปฏิบัติตามแผน และการปรับปรุงตามสถานการณ์

หมวดที่ 3 การบริหารตลาด – ประเมินจาก การกำหนดลูกค้าและแหล่งจำหน่าย การเชื่อมโยงเครือข่าย การติดตามข้อมูลความต้องการลูกค้า

หมวดที่ 4 การจัดการความรู้และข้อมูล – ประเมินจาก การแสวงหาความรู้ จัดเก็บข้อมูล การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ภายในและภายนอก

หมวดที่ 5 การบริหารสมาชิกวิสาหกิจชุมชน – ประเมินจาก การกำหนดเงื่อนไขรับสมาชิก การพัฒนา สร้างขวัญกำลังใจและความร่วมมือ

หมวดที่ 6 การจัดการสินค้าหรือบริการ – ประเมินจาก ขั้นตอนหรือกระบวนการผลิตสินค้าและให้บริการ การควบคุมคุณภาพ

หมวดที่ 7 ผลลัพธ์การดำเนินงานวิสาหกิจชุมชน – ประเมินจาก การลดต้นทุน การสร้างรายได้สมาชิก คุณภาพชีวิต ความพึงพอใจต่อสินค้าและบริการของผู้บริโภค ความพึงพอใจของสมาชิก การเพิ่มทักษะและความสามารถของสมาชิก

3.การจัดทำแผนพัฒนากลุ่ม

แผนพัฒนา เป็นกระบวนการเตรียมการเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานปรับปรุงหรือแก้ไขปัญหา ทั้งนี้กลุ่มจำเป็นต้องจัดทำอย่างถูกต้องตามกระบวนการ เช่น การจัดประชุมหารือสมาชิก การจัดทำแนวทางปปฏิบัติและจัดหาปัจจัยหรือแหล่งสนับสนุนงบประมาณ เป็นต้น

ทะเบียนวิสาหกิจชุมชน

อำเภอดอกคำใต้มีกลุ่มวิสากิจชุมชนที่จดทะเบียนไม่น้อยกว่า 200 กลุ่ม โดยต้องดำเนินการต่ออายุ ทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ทุกปี โดยกลุ่มดังกล่าวมีทั้งรูปแบบกิจกรรมการผลิตเบื้องต้น การแปรรูปเพิ่มมูลค่า และให้บริการ โดยปัจจุบันได้จัดทำช่องทางสื่อสารให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนด้านข้อมูล ความรู้ เครือข่าย รองรับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขัน


ผู้ดำเนินการ : นางสาวลำดวน สุดใจ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ

เรื่อง : ชัชวาลย์ กลไกล

ภาพ : สำนักงานเกษตรอำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา


การจัดการน้ำ http://dokkhamtai.phayao.doae.go.th/?p=401

วิสาหกิจชุมชน https://smce.doae.go.th/

Spread the love