มาตรฐานสินค้าเกษตรกับเกษตรกร

“มาตรฐานสินค้าเกษตร” .สำหรับเกษตรกรนั้น ในอดีตอาจจะเป็นเรื่องไกลตัว ยากที่จะเข้าถึงและยากที่จะเข้าใจ หากแต่ในปัจจุบันและมองไปถึงอนาคตข้างหน้า มาตรฐานสินค้าเกษตรมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเกษตรกรยุคใหม่ เพราะไม่ได้มีแค่สินค้าส่งออกและสินค้าเกรดพรีเมียมที่ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานเท่านั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ สินค้าที่ออกจำหน่ายภายในประเทศจำเป็นจะต้องเพิ่มระดับและศักยภาพ รวมถึงจะต้องมีหลักประกันรับรองเป็นมาตรฐานสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และตรวจสอบได้อีกด้วย

เพื่อปรับตัวให้เทียบทันทิศทางเศรษฐกิจทั้งของประเทศไทยและของโลก เกษตรกรจำเป็นต้องมีความรู้เบื้องต้นสำหรับมาตรฐานสินค้าเกษตร เตรียมตัวเข้าสู่การขอการรับรองการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน สำหรับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่มีการรับรองมาตรฐานดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางภาครัฐและเอกชน ต่างก็มีหน่วยตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อเจาะตลาดสินค้าส่งออก รวมไปถึงตลาดสินค้าชั้นนำในประเทศ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้มีการกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของพื้นที่ เพื่อรองรับการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าที่มีหลายชนิดในแต่ละภูมิภาคของประเทศ ทั้งนี้จะขอกล่าวถึงมาตรฐานสินค้าเกษตรที่เกษตรกรควรมีความเข้าใจเบื้องต้น จำนวน 2 มาตรฐาน ดังนี้


1. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร Good Agricultural Practices For Food Crop (GAP)

มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ครอบคลุมสำหรับการผลิตพืชสำหรับใช้เป็นอาหาร ได้แก่ พืชผัก ไม้ผล พืชไร่ พืชเครื่องเทศ และพืชสมุนไพร โดยมีรายการตรวจประเมิน จำนวน 8 รายการ ดังนี้

1) น้ำ : น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตต้องมาจากแหล่งผลิตที่ไม่มีสภาพแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนต่อผลผลิต

2) พื้นที่ปลูก : ไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนวัตถุหรือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผลผลิต

3) วัตถุอันตรายทางการเกษตร : จัดเก็บเป็นหมวดหมู่ในสถานที่เก็บที่มิดชิดและใช้ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร

4) การจัดการคุณภาพในกระบวนการเก็บเกี่ยว : มีแผนควบคุมการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพโยใช้หลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี

5) การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว : เก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีอายุเหมาะสม ผลผลิตมีคุณภาพตามความต้องการของตลาดและข้อตกลงของประเทศคู่ค้า

6) การพักผลผลิต : การขนย้ายในแปลงปลูกและการเก็บรักษาผลผลิต มีการจัดการด้านสุขลักษณะเพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่มีผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

7) สุขลักษณะส่วนบุคคล : ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ความเข้าใจในสุขลักษณะส่วนบุคคล เพื่อสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกสุขลักษณะ

8) การบันทึกข้อมูลและการตามสอบ : มีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติงานการใช้สารเคมี ข้อมูลผู้รับซื้อและปริมาณผลผลิต เพื่อประโยชน์ต่อการตามสอบ

โดยรายการตรวจประเมินนี้ จะมีข้อกำหนดหลัก จำนวน 23 ข้อ, ข้อกำหนดรอง จำนวน 41 ข้อ และข้อแนะนำ จำนวน 52 ข้อ รวมทั้งสิ้น 116 ข้อกำหนด ซึ่งเกณฑ์ในการตรวจประเมิน จะต้องผ่านข้อกำหนดหลักร้อยละ 100 (ผ่านข้อกำหนดหลัก จำนวน 23 ข้อ) และผ่านข้อกำหนดรอง ร้อยละ 60 (ผ่านข้อกำหนดรอง จำนวน 25 ข้อ) จึงจะได้การรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP)


2. มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ Organic Thailand

มาตรฐานนี้มีการรับรองในการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร ครอบคลุมการผลิตจำนวน 6 ประเภท ได้แก่ การขอรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์, การรับรองโรงคัดบรรจุพืชอินทรีย์, การรับรองการแปรรูปผลิตภัณฑ์พืชอินทรีย์, การรับรองการรวบรวมผลิตผล/ผลิตภัณฑ์พืชอินทรีย์, การรับรองการจัดจำหน่ายผลิตผล/ผลิตภัณฑ์พืชอินทรีย์ และการรับรองการนำเข้าผลิตผล/ผลิตภัณฑ์พืชอินทรีย์

โดยจะกล่าวถึงการขอรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ที่เกษตรกรควรทราบในเบื้องต้น ซึ่งมีข้อกำหนดการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ ดังนี้

1) พื้นที่ปลูก : พื้นที่ปลูกและแหล่งน้ำที่ใช้ ต้องไม่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเคมีและโลหะหนัก โดยจะต้องหยุดใช้สารเคมีอย่างน้อย 12 เดือน สำหรับพืชอายุสั้นและพืชล้มลุก / อย่างน้อย 18 เดือน สำหรับพืชยืนต้น

2) การวางแผนการจัดการ : จัดทำแนวกันชน หรือร่องระบายน้ำเพื่อลดการปนเปื้อนสารเคมีและโลหะหนัก ปลูกพืชที่เหมาะสมกับสถาพพื้นที่และฤดูกาล

3) เมล็ดพันธุ์และส่วนที่ขยายพันธุ์ : ต้องมาจากกระบวนการผลิตพืชอินทรีย์ และไม่ใช้พันธุ์พืชที่ได้จากการดัดแปลงพันธุกรรมหรือผ่านการฉายรังสี

4) การจัดการและการปรับปรุงบำรุงดิน : ปลูกพืชหมุนเวียนหรือใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือใช้วัสดุปรับปรุงบำรุงดินที่มาตรฐานกำหนด หรือได้รับการยอมรับจากหน่วยรับรอง

5) การจัดการศัตรูพืช : ควบคุมศัตรูพืชก่อนปลูกและในระยะที่พืชเจริญเติบโตด้วยวิธีเขตกรรม วิธีกล ชีววิธี และพืชสมุนไพรแบบผสมผสาน หรือใช้สารที่มาตรฐานกำหนด หรือได้รับการยอมรับจากหน่วยรับรอง

6) การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : ใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ และภาชะที่ไม่มีการปนเปื้อนสารพิษ วัตถุอันตราย และพาหะนำโรค ผู้ปฏิบัติต้องมีความเข้าใจในการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างถูกต้องตามหลักเกษตรอินทรีย์

7) การบรรจุหีบห่อ การเก็บรักษา และการขนส่ง : การบรรจุ หีบห่อ การคัดบรรจุ การเก็บรักษา และการขนส่ง ต้องไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนท่าชสำให้สูญเสียความเป็นอินทรีย์ รวมถึงมีการชี้บ่งอย่างชัดเจน

8) การแสดงฉลากและการกล่าวอ้าง : มีรายละเอียดตามที่มาตรฐานกำหนด ชัดเจน (ตรารับรองต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 1.5 เซนติเมตร) ไม่เป็นเท็จและหลอกลวง

9) การบันทึกข้อมูลการผลิตและการทวนสอบ : จัดทำแผนการผลิต จดบันทึกขั้นตอนการปฏิบัติงาน และข้อมูลการผลิตภายในฟาร์มอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจุบัน และสามารถทวนสอบได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต


เมื่อเกษตรกรมีความรู้เบื้องต้นในการขอรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรกร แนวทางข้างหน้าคือการปรับเปลี่ยนการปฏิบัติกิจกรรมในแปลงปลูกเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การขอรับรองมาตรฐาน อันเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ในอนาคต

สำหรับเกษตรกรที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติม สามารถศึกษาข้อมูลได้จากเว็บเพจ เว็บไซต์ หรือช่องทางระบบอินเตอร์เน็ตอื่นๆ หรือติดต่อสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด และหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่

“เพราะความสำเร็จ มีจุดเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลง”

บริการที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสินค้าเกษตร http://dokkhamtai.phayao.doae.go.th/?page_id=975


ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ https://www.acfs.go.th/#/

กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ https://www.doa.go.th/th/?id=#

สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) https://actorganic-cert.or.th/th/about-act/


เนื้อหา: รุ่งทิวา วงศ์ไชย ภาพ : สำนักงานเกษตรอำเภอดอกคำใต้

Spread the love