เริ่มต้นฤดูกาลใหม่กับลำไย

ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมทำให้พื้นที่อำเภอดอกคำใต้ สามารถผลิตผลไม้ได้หลากหลายชนิด และหนึ่งในนั้นได้แก่ “ลำไย” ซึ่งนับได้ว่าเป็นไม้ผลที่มีสัดส่วนพื้นที่ปลูกมาก และทำกันมานานมากกว่า 20 ปี นำไปใช้ประโยชน์ทั้งบริโภคสดและอุตสาหกรรมแปรรูป ดังนั้นในการผลิต จึงต้องมีการวางแผนตั้งแต่การจัดการขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงจะได้ผลผลิตที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน


ภาพ ผลผลิตที่แสดงส่วนประกอบเปลือก เนื้อและเมล็ดลำไย
ภาพ เกษตรกรกำลังเก็บเกี่ยวลำไยในแปลงผลิต

หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยว ในระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ก็นับได้ว่าเป็นการเริ่มฤดูกาลใหม่ของลำไยอีกครั้ง เนื่องจากเวลาต้องดำเนินไปอีกหนึ่งรอบปี จนกว่าจะมีการเก็บเกี่ยวอีกครั้ง

การเริ่มใหม่ ต้องทำอะไรบ้าง ? เป็นคำถามที่มีคำตอบหลากหลาย เกษตรกรที่ยังต้องการผลผลิต จำเป็นต้องดูแลจัดการต่อไป ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. จัดทรง
2. บำรุงต้น
3. ระบบน้ำ
4. การกระตุ้นออกดอก
5. การจัดการช่วงแล้ง
6. การจัดการศัตรูพืช
7. การทำคุณภาพ
8. การตลาด

ในแต่ละข้อที่กล่าวถึง คงมีเกษตรกรจำนวนมากที่ได้ลงมือจัดการมาอย่างต่อเนื่อง แต่รายละเอียดที่ต้องค้นหาอยู่เสมอ คือ ทำยังไงให้มี “ประสิทธิภาพ และต้นทุน” ที่เหมาะสม


ก่อนที่จะลงรายละเอียดในการจัดการแต่ละด้าน ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ จะขอเล่าสถานการณ์ เพื่อให้ทราบที่มาที่ไปและจุดมุ่งหมายเพื่อเข้าใจในทิศทางเดียวกันก่อน

การผลิตลำไยในปัจจุบัน ต้นลำไยให้ผลผลิตตั้งแต่อายุ 3 ปี ไปจนถึงมากกว่า 20 ปี สำหรับจังหวัดพะเยา มีพื้นที่ยืนต้นทั้งหมด 96,534 ไร่ ผลผลิตคาดการณ์ ปี 2565 ปริมาณ 43,309 ตัน ผลผลิตลำไยมีช่วงเก็บเกี่ยวประมาณ 2 เดือน ไม่สามารถบริโภคสดได้ทั้งหมด จึงมีการแปรรูปขั้นต้น คือ นำไปอบแห้ง จากนั้นจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะนำไปบริโภค หรือแปรรูปต่อไป แล้วแต่ความต้องการ

อุตสาหกรรมลำไยอบแห้ง ทำให้เกิดความต้องการซื้อผลผลิตรูดร่วง (ลำไยที่รูดเอาแต่ผล ไม่เอากิ่งก้านใบ) โดยแยกเป็นเกรดตามขนาด ได้แก่ เกรดเอเอ (AA) คือ ลำไยที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผล มากกว่า 27 มิลลิเมตร เกรด เอ (A) เส้นผ่านศูนย์กลางผลมากกว่า 25 – 27 มิลลิเมตร เกรดบี (B) มากกว่า 22 – 25 มิลลิเมตร เกรดซี (C) มากกว่า 20 – 22 มิลลิเมตร

ส่วนช่องทางผลผลิตสด คุณภาพที่ต้องการคือ ลำไยสดช่อ ซึ่งอาศัยลูกขนาด เอเอ (AA) + เอ (A) เก็บเกี่ยวโดยมีก้านช่อผลติด อาจจัดโดยการมัดรวมน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม (มัดปุ๊ก) แล้วบรรจุในตะกร้าขนส่ง หรือนำจัดเรียงในตะกร้าพลาสติก ขนาด 3 – 10 ก.ก. (ตะกร้าชมพู ตะกร้าขาว) หรือจัดเรียงในกล่องกระดาษ เป็นต้น

ภาพลำไไยสดช่อที่จัดเรียงและบรรจุในตะกร้าขนาด 3 กิโลกรัม
ภาพ ลำไยรูดร่วงที่ผ่านการคัดเกรด บรรจุในตะกร้ารอขนส่ง
ภาพ เนื้อลำไยที่คว้านเมล็ดออกเพื่อรอเข้าอบเป็นลำไยเนื้อสีทอง

จากการติดตามสถานการณ์ ปี 2565 ลำไยรูดร่วง เกรด AA เฉลี่ย 13 – 19 บาท / ก.ก. A 4 – 9 บาท/ก.ก. B 2 – 5 บาท/ก.ก. C 1 บาท/ ก.ก. สดช่อเฉลี่ย 14 – 21 บาท/ ก.ก. จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างด้านราคาแต่ละเกรด แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่แตกต่างอย่างมาก โจทย์สำคัญ คือ ทำยังไงให้สัดส่วนลำไย AA มีมากที่สุด ซึ่งจะนำมาแลกเปลี่ยนในตอนต่อไป ….


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา / สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพะเยา / กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์


Spread the love